top of page

เช็คลิสต์! ว่าคุณเป็นโรคขาดโทรศัพท์ไม่ได้หรือเปล่า

อัปเดตเมื่อ 26 ก.ย.



Nomophobia หรืออาการกลัวการไม่มีโทรศัพท์มือถือ พบได้บ่อยขึ้นในโลกที่ทุกอย่างถูกเชื่อมต่อกันมากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งสามารถแสดงออกมาเป็นความวิตกกังวล ความเครียด หรือแม้กระทั่งอาการตื่นตระหนกเวลาโทรศัพท์หาย แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ความวิตกกังวลนี้เกิดจากบทบาทของโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน ที่ไม่เพียงเป็นเครื่องมือสื่อสาร แต่ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งบันเทิง ช็อปปิ้งออนไลน์ โมบายแบงก์กิ้ง และอีกมากมาย


คำว่า "โนโมโฟเบีย" (Nomophobia) เพิ่งถูกนำมาใช้เมื่อไม่นานมานี้ เพื่ออธิบายถึงความกลัวที่เพิ่มขึ้นจากการขาดโทรศัพท์มือถือ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการพึ่งพาอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไปอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการเสพติดพฤติกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวม การไม่มีโทรศัพท์มือถืออาจทำให้คนรู้สึกขาดการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และในสังคมที่เราต้องการเชื่อมต่อกันตลอดเวลา ความกลัวนี้จึงพบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไป ความต้องที่ทำให้เราต้องเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์มือถืออย่างต่อเนื่องอาจทำลายสุขภาพจิตของเรา ดังนั้นเราควรระวังว่าเราใช้เวลาไปกับโทรศัพท์มือถือมากแค่ไหน


พฤติกรรมที่เข้าข่ายกลุ่มอาการ โนโมโฟเบีย


  • หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความในโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา

  • ชาร์จโทรศัพท์ถึงแม้แบตเตอรี่ที่มีอยู่เกือบเต็มแล้ว

  • พกโทรศัพท์ไปทุกที่ แม้กระทั่งในห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ

  • คอยคลำกระเป๋ากางเกงหรือกระโปรงตลอดว่าโทรศัพท์อยู่ข้าง ๆ ตัวหรือไม่

  • กลัวการไม่มี Wi-Fi หรือไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายมือถือได้

  • กังวลว่าจะไม่สามารถโทรขอความช่วยเหลือในเวลาฉุกเฉิน

  • ใช้โทรศัพท์ตลอกเวลา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ นั่งรอรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้า

นอกจากอาการทางอารมณ์และความคิดแล้ว ผู้ที่มีอาการโนโมโฟเบียอาจมีอาการทางร่างกายด้วย เช่น หายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น เหงื่อออก มือสั่น หรือรู้สึกอ่อนแรงหรือเวียนหัว และในกรณีที่รุนแรง อาการเหล่านี้อาจพัฒนาเป็นอาการตื่นตระหนก (panic attack) ได้


ผลกระทบของโนโมโฟเบียต่อชีวิตประจำวัน


  1. ลดประสิทธิภาพการทำงาน: การโทรศัพท์ตลอดเวลาอาจทำให้เสียสมาธิในการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมลดลง

  2. รบกวนการนอน: การใช้โทรศัพท์มากเกินไป โดยเฉพาะก่อนนอน อาจรบกวนวงจรการนอน ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าและสมาธิที่ลดลง

  3. ลดความสัมพันธ์กับคนอื่น: การอยู่กับโทรศัพท์มากเกินไปอาจทำให้การพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับคนอื่นลดน้อยลง และส่งผลให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวแย่ลงด้วย

  4. เพิ่มความเครียดและวิตกกังวล: ความกลัวที่จะขาดการเชื่อมต่อหรือพลาดข้อมูลอัพเดตต่างๆอาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลที่สูงขึ้น

  5. ปัญหาสุขภาพร่างกาย: การใช้โทรศัพท์เป็นเวลานานอาจนำไปสู่อาการตาล้า ปวดหัว และวิถีชีวิตที่อยู่นิ่ง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว



แม้ว่าโทรศัพท์จะทำให้การใช้ชีวิตของเราง่ายขึ้น แต่การยึดติดกับมันมากเกินไปอาจทำให้เราลืมคำนึงถึงสิ่งรอบตัวที่มีความหมายกับเรา เช่นเพื่อน ครอบครัว แม้กระทั่งตัวเอง หากรู้สึกว่าตัวเองติดโทรศัพท์มากเกินไป เริ่มรู้สึกกระวนกระวาย เริ่มกังวลใจที่ไม่ได้เล่นโซเชียล ลองใช้เวลาทำกิจกรรมที่ชอบกับคนที่รัก หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อหาทางออกอย่างตรงจุดและเหมาะสม ดาวน์โหลดแอป Doctor Anywhere เพื่อนัดหมายปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองทุกที่ทุกเวลา




ดู 65 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page