top of page

ปัจจัยที่ทำให้การ Work From Home เครียดหนัก สุขภาพจิตแย่

Bhawna Bijlani

หากย้อนไปหลายปีก่อน การได้ทำงานที่บ้านหรือการ Work From Home อาจเป็นหนึ่งในความฝันของใครหลายๆ คน ไม่ต้องเผชิญกับรถติดบนถนน คนแน่นบนรถไฟฟ้า มีเวลาพักผ่อน แต่ในปัจจุบันเราต้องทำงานที่บ้านเพราะสถานการณ์โควิด ออกไปไหนก็เสี่ยง ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และสถานบันเทิง ต่างต้องปิดตัวลง ไม่มีที่ให้คลายเครียดเหมือนเมื่อก่อน ทำให้การทำงานแบบ Work From Home ในสถานการณ์ตอนนี้ส่งผลให้หลายคนเครียดหนัก จิตพังกว่าเดิม มาดูกันว่าทำไมการทำงานที่บ้านถึงทำให้เครียดขึ้น และเราจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง


ปัจจัยที่ทำให้สุขภาพจิตพังช่วง Work From Home

1. ความเหงาเข้ามาแทรกซึม

ถึงแม้ว่าการทำงานที่บ้านจะช่วยลดปัญหาการตื่นเช้า มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่การต้องอยู่บ้านทุกวันไม่ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน ขาดการเข้าสังคมไปนานๆ อาจทำให้หลายคนรู้สึกเหี่ยวเฉา เหงาใจ ไม่สดใสร่าเริงเหมือนที่เคยเป็น


2. ความกดดันและภาระงานเพิ่มขึ้น

การทำงานที่บ้านของแต่ละบริษัทอาจไม่เหมือนกัน บางที่อาจมีความจุกจิกมากขึ้น ไหนจะต้องประชุมตลอดทั้งวัน คอยรับสาย คอยตอบไลน์จนดึกดื่น อีกทั้งยังต้องเร่งทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายในช่วงที่คนมีกำลังซื้อน้อยลงจากสถานการณ์โควิด ทำให้ความกดดันมีมากขึ้น ส่งผลต่อความเครียดของผู้ทำงานได้ในที่สุด


3. Work-life ไม่บาลานซ์

การทำงานที่บ้านทำให้เส้นแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนไม่ชัดเจน ถึงเวลาเลิกงานแล้วไม่ยอมเลิก หรือเลิกไม่ได้ รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่สถานที่พักผ่อนเหมือนที่เคย ทำให้หลายคนต้องทำงานจนถึงดึกดื่น ไม่มีช่วงเวลาพักผ่อนให้ตัวเองเท่าที่ควร


4. สมาธิสั้นลง มีสิ่งรบกวนขณะทำงาน

บางคนอาจมีปัญหากับการทำงานที่บ้าน ทำงานได้ช้าลง ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานที่ทำเพราะสิ่งรอบตัวในบ้าน เช่น เสียงรบกวน คนในครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้การเล่นโทรศัพท์หรือการติดโซเชียลมีเดียมากๆ ก็อาจทำให้ผู้ทำงานเสียสมาธิได้


5. ทำงานไปวันๆ ไม่มีสิ่งให้ตั้งหน้าตั้งตาคอย

ปกติคนทำงานอาจตั้งหน้าตั้งตารอให้ถึงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาว เพื่อออกไปเที่ยวพักผ่อน หาความสุขให้ตัวเอง แต่กลายเป็นว่าทุกคนต้องทำงานที่บ้านอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น เพราะไม่สามารถจะออกไปเที่ยวที่ไหนได้ ส่งผลให้ร่างกายเหี่ยวเฉา หรือหมดไฟในการทำงานไปได้


วิธีจัดการความเครียดช่วง Work From Home

1. พูดคุยกับเพื่อนให้มากขึ้น

วิธีที่พอจะช่วยคลายเครียดได้คือระบายความเครียดนั้นออกไป แนะนำให้ใช้การคุยในรูปแบบเสียงหรือการโทรจะทำให้คุณระบายออกไปได้เต็มที่กว่าการพิมพ์ วิธีนี้จะช่วยให้คุณและผู้สนทนาได้ระบายความเครียดและปัญหาของตัวเองออกมาทั้งคู่


2. แจ้งปัญหากับหัวหน้าหรือฝ่ายบุคคล

หากคุณรู้สึกว่าภาระงานที่ได้รับเยอะเกินไป ทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือรู้สึกอึดอัดกับวิธีการทำงานบางอย่าง ลองแจ้งหัวหน้าหรือฝ่ายบุคคลเพื่อรับคำแนะนำและการแก้ไขที่ดีขึ้น ให้ทุกฝ่ายทำงานต่อได้อย่างสบายใจ


3. แบ่งเวลาทำงานและพักผ่อนให้ชัดเจน

ตั้งเวลาการทำงานให้ชัดว่าจะเริ่มงานกี่โมง พักกี่โมง และเลิกกี่โมง เมื่อถึงเวลาเลิกงานก็ควรวางงานไว้ แล้วค่อยมาทำต่อวันพรุ่งนี้ ให้งานเสร็จตามเวลาที่ควรจะเป็น ไม่ต้องเร่งเพื่อให้เสร็จภายในวันเดียวจนต้องกินเวลาพักผ่อนของตัวเองไป


4. หาความสุขเล็กๆ ให้ตัวเอง

ในเมื่อความสุขอย่างการไปเที่ยว ไปสังสรรค์กับเพื่อนยังทำไม่ได้ในช่วงนี้ ลองมองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ตัวเอง เช่น การกินอาหาร/ขนมอร่อยๆ ช้อปปิ้งผ่านแอป เล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน เล่นดนตรีที่ห้อง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่คุณสนใจ


5. ขยับร่างกายบ่อยๆ

การนั่งทำงานอยู่ในห้องนานๆ อาจทำให้คุณอุดอู้ ควรยืดเส้นยืดสายเผื่อคลายความเครียดออกไป ไม่ว่าจะเต้นออกกำลังกายที่ห้อง เดินเล่นที่สวนสาธารณะ ปั่นจักรยานแถวบ้าน หรือแม้แต่การเล่นเซิร์ฟสเก็ตที่กำลังนิยมอยู่ในช่วงนี้


หากรู้สึกทุกข์ สลัดความเครียดไม่ออก ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

ความเครียดและความกังวลของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจัดการความเครียดได้ บางคนอาจต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ช่วงนี้ออกจากบ้านไม่ค่อยสะดวก สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านแอป Doctor Anywhere ได้ คุณสามารถเลือกผู้เชี่ยวชาญ และทำการนัดหมายวันและเวลาที่ต้องการได้ มีบริการจัดส่งยาฟรีถึงที่ภายใน 3 ชม. สำหรับบริการปรึกษาจิตแพทย์ (จัดส่งยาเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล)

 

ที่มา:


Commentaires


LINE_APP_Android
bottom of page