หัวข้อหนึ่งในวิชาเพศศึกษาที่เราควรได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนเรียน คือ การคุมกำเนิด เพื่อป้องกันปัญหาท้องในวัยเรียน หรือมีลูกตอนยังไม่พร้อม เพราะจะว่าไปแล้ว เรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่มีความอยากรู้อยากลอง ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเอามาพูดอย่างเปิดเผย จนเด็กหลายๆ คนไม่มีความเข้าใจเพราะไม่มีใครให้ความรู้อย่างถูกต้อง
สำหรับบทความนี้ เราจะมาพูดถึงวิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิง ซึ่งมีหลากหลายวิธีแตกต่างตามวัตถุประสงค์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้หญิงทุกวัยที่เข้ามาอ่าน หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม เรายังมีบริการปรึกษาสูตินรีแพทย์ออนไลน์ทิ้งท้ายหลังจบบทความ
วิธีการคุมกำเนิดสำหรับฝ่ายชาย
ถุงยางอนามัย ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยป้องกันทั้งการคุมกำเนิดและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน เริม เอชพีวี และเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยเป็นการสวมใส่บนอวัยวะเพศของฝ่ายชายก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ หลายคนอาจมีปัญหาไม่กล้าซื้อถุงยางอนามัย เพราะต้องซื้อในที่สาธารณะ อาจแก้ปัญหาด้วยการสั่งซื้อทางออนไลน์ หรือติดต่อคลินิก/ศูนย์บริการสุขภาพต่างๆ ที่มีบริการแจกฟรี
วิธีการคุมกำเนิดสำหรับฝ่ายหญิง
นอกจากการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยแล้ว ก็ยังมีตัวเลือกวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ด้วย ได้แก่
➤ การกินยาคุมกำเนิด
เป็นวิธีที่เข้าถึงง่าย มีประสิทธิภาพหากกินถูกต้องตามข้อแนะนำ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีชนิด 28 เม็ด และ 21 เม็ด โดยในชนิด 28 เม็ด จะมีเม็ดแป้ง 7 เม็ด เพื่อการกินอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการลืมกินยา
➤ การกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ถุงยางรั่วซึม ลืมกินยาคุมกำเนิดเกิน 3 วัน หรือกรณีมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม (การข่มขืน)
ข้อควรระวังในการกินยาคุมฉุกเฉิน
ควรกินยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 72 ชม.
ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 4 เม็ด ภายใน 30 วัน
ไม่ควรใช้วิธีนี้เป็นวิธีหลักในการป้องกัน เพราะอาจทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเด็ดขาดขณะตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
➤ การฉีดยาคุมกำเนิด
เป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราวโดยฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของผู้หญิง มีประสิทธิภาพสูง ทางเลือกสำหรับคนไม่ชอบกินยาคุมหรือลืมกินเป็นประจำ มีระยะเวลาการคุมกำเนิดตั้งแต่ 1-3 เดือน ตามชนิดของยาที่ใช้ สามารถติดต่อเข้ารับบริการได้ตามโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลินิกวางแผนครอบครัว
ข้อควรระวังในการฉีดยาคุมกำเนิด
ไม่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกในการคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือเกิน 45 ปี เพราะอาจส่งผลต่อความหนาแน่นของกระดูกจากยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว
ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือด โรคไมเกรน เป็นต้น
➤ การฝังยาคุมกำเนิด
เป็นวิธีช่วยลดปัญหาการลืมกินยา และใช้ได้ในกลุ่มวัยรุ่น มีประสิทธิภาพสูง ช่วยคุมกำเนิดได้ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของยา โดยหลอดบรรจุฮอร์โมนขนาดเล็กจะถูกฝังใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนด้านใน จากนั้นจะค่อยๆ ปล่อยเข้ามาสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ไม่เกิดการตกไข่ จึงป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณไม่ได้กำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรเข้ารับการฝังยาคุมในช่วง 5 วันแรกของรอบเดือน
➤ การแปะแผ่นยาคุม
คือ การแปะแผ่นยาฮอร์โมนลงบนบริเวณสะโพก หน้าท้อง แผ่นหลังช่วงบน หรือต้นแขน เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเทียบเท่าการกินยาคุมทั่วไป
ข้อควรระวังการแปะแผ่นยาคุมกำเนิด
อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ หากใช้ไม่ถูกวิธี ควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีเพศสัมพันธ์น้อยลงก็ตาม
➤ การใส่ห่วงคุมกำเนิด
เป็นการนำห่วงรูปตัวที (T) ใส่เข้าไปให้พอดีกับมดลูกของผู้หญิง เพื่อไม่ให้อสุจิเข้าไปได้ มีประสิทธิภาพคุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วง ซึ่งมีทั้งแบบเคลือบสารทองแดง และแบบเคลือบฮอร์โมนโพรเจสติน เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบกินยาหรือฉีดยาบ่อยๆ
ปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิดกับสูตินรีแพทย์
หากต้องการข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุมกำเนิด หรือกำลังมองหาวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะกับคุณมากที่สุด สามารถจองคิวนัดหมายปรึกษาสูตินรีแพทย์ออนไลน์ได้บนแอป Doctor Anywhere เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญผ่านการวิดีโอคอล ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง สะดวกกว่า ประหยัดกว่า
ค่าบริการปรึกษาสูตินรีแพทย์ 450 บาท / ครั้ง นัดหมายแพทย์ได้ทุกวัน ตั้งแต่ 09.00 - 20.00 น.
ขั้นตอนการปรึกษาสูตินรีแพทย์ออนไลน์
ลงทะเบียนแอป Doctor Anywhere
เลือก รับคำปรึกษาทางออนไลน์
เลือก แพทย์เฉพาะทาง
เลือก Obstetrics and Gynaecology - สูตินรีแพทย์
เลือกแพทย์ จากนั้นนัดหมายวันเวลาที่ต้องการปรึกษา
Comments