top of page

ซึมเศร้า ยาจะไปช่วยอะไรได้

Updated: Nov 18, 2020

มีคำถามที่หมอมักจะถูกถามอยู่เสมอ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากปัญหาทางจิตใจรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะคนที่มีภาวะซึมเศร้า บางครั้งผู้ป่วยและญาติมักจะสงสัยกันว่า การรักษาโรคพวกนี้ทำไมต้องกินยาด้วย แค่การลาพักผ่อนไปเที่ยว หรือการมาคุยกับหมอปรับเปลี่ยนทัศนคติหรือวิธีคิดก็อาจจะดีขึ้นได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องกินยา นอกจากนี้บางคนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนค่อนข้างมากเกี่ยวกับการกินยาเพื่อรักษาภาวะทางสุขภาพจิต (ซึ่งเรื่องนี้ขอยกยอดไว้กล่าวถึงในคราวหน้านะครับ)

สำหรับวันนี้อยากจะพูดถึงเรื่อง สิ่งที่ยาจะช่วยให้เราดีขึ้นอย่างไร เมื่อเป็นโรคซึมเศร้า

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าการเกิดโรคซึมเศร้านั้น มันมีอะไรที่มากไปกว่า คนที่เครียดชั่วครั้งชั่วคราว แบบสอบตก หรืออกหัก แต่มันเป็นปัญหาที่มีผลเชื่อมโยงไปกับการทำงานของสมองที่ผิดปกติไป ซึ่งความผิดปกติของสมองนี้มันก็สามารถส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเราได้ ถ้าจะเปรียบเทียบสมองเป็นรถยนต์ จิตใจเป็นคนขับ คนขับอยากจะซิ่งแค่ไหน แต่สภาพรถมันไม่ไหว มันก็คงไปไม่ได้อย่างที่ใจคิด คนที่เป็นรคซึมเศร้าก็คล้ายกัน คือสมองมันไม่อนุญาติให้เรามีความสุข เพราะสมองมันพัง เหมือนรถยนต์ที่เสื่อมสภาพยังไงยังงั้น แล้วเพราะอะไรอยู่ดีๆสมองมันเป็นอย่างนั้นล่ะ

ก็ต้องตอบว่ามันมีหลายสาเหตุเลยแหละ เอาเฉพาะสิ่งที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันพิสูจน์มาแล้วว่าเกี่ยวข้องแน่ๆ ก็จะมีทั้งเรื่องของพันธุกรรม ที่คนบางคนเกิดมามีโครงสร้างสมอง และสารเคมีในสมองที่แตกต่างจากคนทั่วๆไป

นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของความเครียด เช่นการเผชิญกับสภาวะที่กดดันติดต่อกันนานๆ อดนอน พักผ่อนน้อย เป็นต้น เวลาเกิดภาวะแบบนี้ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนความเครียดขึ้นมา (Cortisol ลองไปดูซีรีย์เรื่อง ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ทวนความจำกันดูนะครับ เผื่อใครอยากรู้จักฮอร์โมนตัวนี้ให้ดีขึ้น ใบ้ให้ว่าอยู่ ซีซั่น 3 555 ดูแล้วบอกเลยว่าโคตรรรร เครียดเลย ) ฮอร์โมนตัวนี้เมื่อร่างกายสร้างออกมาแล้วก็จะไปมีผลต่อร่างกายหลายๆอวัยวะเลยล่ะ ดูจากภาพเลยดีกว่านะครับ หลักการก่อเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ร่างกายรับมือกับภัยที่กำลังจะมาถึง




มาเจาะลึกแค่สมองแล้วกัน ฮอร์โมนความเครียดจะไปทำให้สารเคมีหลายๆตัวในสมองลดปริมาณลง โดยเฉพาะตัวสำคัญที่ชื่อ Serotonin ซึ่งเราจะเรียกง่ายๆว่าฮอร์โมนความสุข ความสงบ ก็ได้ (ดูจากซีรีย์ได้อีกเช่นกัน 555 ซีซั่น 1 )



ทีนี้หลายคนอาจจะคิดว่า งั้นถ้าเราแค่หยุดเครียด ไปพักผ่อนซะ ฮอร์โมนความสุข มันก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้อย่างนั้นรึป่าว ก็ต้องตอบว่า มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ สำหรับในคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นเพียงในระดับเล็กน้อย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไปแล้วมันจะมีกลไกบางอย่างที่เพิ่มความซับซ้อนขึ้นมาอีก นั่นคือ BDNF (Brain derived neurotrophic factor ตัวนี้ ไม่มีในซีรีย์นะ 5555 )



หลายคนบอกว่าดูจากรูปแล้วดูคล้ายๆรากของต้นไม้ จริงๆแล้วมันก็เป็นเช่นนั้นนั่นแหละ ถ้าจะเปรียบเทียบสมองเราเหมือนต้นไม้ เจ้า BDNF นี้ก็จะเหมือนรากฝอยๆที่คอยชอนไชไปหาน้ำ หาปุ๋ยมาเลี้ยงต้นไม้นั่นแหละ ถ้ารากมันฝ่อไป จากที่เห็นในภาพ ต้นไม้ก็จะไม่สามารถผลิดอกออกผลได้ ก็เหมือนสมองที่ไม่สามารถสร้างสารดีๆต่างๆที่จะออกมาช่วยให้การทำงานของมันสมบูรณ์ เป็นที่มาของอาการต่างๆ ไม่มีความสุข คิดอะไรไม่ออก ไม่อยากทำอะไร เป็นต้น ซึ่งการฝ่อไปของเจ้ารากฝอยพวกนี้ แม้ความเครียดที่เราเผชิญมามันจะหยุดไปแล้ว แต่รากพวกนี้มันจะยังไม่สามารถงอกกลับมาเป็นปกติได้

ถ้าเป็นต้นไม้ เราก็ต้องอัดน้ำอัดปุ๋ย เข้าไปใช่มั๊ยครับมันถึงจะกลับมาได้นี่แหละคือหน้าที่ที่ยา (ยาต้านเศร้า / Antidepressant) มันเข้าไปช่วยฟื้นฟูสมองของเรา มันทำหน้าที่อย่างนั้น ในเบื้องต้น ยาจะไปเพิ่มระดับสารเคมีในสมองบางตัวที่ถูกฮอร์โมนความเครียดมันกดไว้ และถ้าเรากินยาไประยะเวลาหนึ่ง ยามันจะไปเพิ่ม BDNF กลับมาด้วย ยิ่งกินยาไปนานๆ แขนงของรากฝอย มันก็จะเพิ่มมาขึ้น จนกลับมาเท่าคนปกติ หลังจากนี้แม้ว่าเราจะไม่อัดปุ๋ย อัดน้ำเข้าไป (คือไม่กินยาแล้ว) ต้นไม้มันก็หากินของมันเอง ออกดอกออกผลได้เป็นปกติ (สมองกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม)

ดังนั้นโรคซึมเศร้า จริงๆแล้วจึงเป็นโรคที่หายขาดได้ กลับมาทำงาน ใช้ชีวิตเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่ายาจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราจะใช้มัน ถ้าเราลองย้อนไปดูต้นเหตุที่พาเรามาจนถึงการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะเห็นว่าความเครียด เป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก หากเรายังคงกลับไปเผชิญกับความเครียด การใช้ชีวิต ที่ไม่สมดุล พักผ่อนน้อย เราก็อาจจะกลับเข้าสู่วงจรเดิม เหมือนต้นไม้ที่ฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่เราเอาสารพิษไปราดมันซ้ำๆ ไม่รดน้ำ ไม่บำรุงมันเลย เดี๋ยวอีกหน่อยมันก็กลับไปเหี่ยวเหมือนเดิม

ดังนั้น หลักการรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันยังคงต้องใช้ทั้ง ยา การปรับเปลี่ยนวิธีคิด การสร้างความสมดุลให้กับชีวิต มีการพักผ่อน ออกกำลังกายที่เหมาะ ร่วมด้วยช่วยกันทุกวิธีแบบนี้ เราจะได้เอาชนะโรคซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว และมีความยั่งยืนด้วย

สวัสดีครับ

นายแพทย์ จตุภัทร คุณสงค์ จิตแพทย์

แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต https://www.doctoranywhere.co.th/exclusivescg หรือสอบถามเกี่ยวกับบริการของ Doctor Anywhere https://www.doctoranywhere.co.th/mentalwellness?lang=th


ขอขอบคุณบทความดีๆจาก Joy of Minds

1,432 views0 comments
bottom of page